ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นศาลที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ``Bangkok City Pillar Shrine``
ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นศาลที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 เป็นวันครบรอบ 241 ปี ขององค์พระหลักเมือง
ศาลหลักเมือง สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2325 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธียกเสาหลักเมืองขึ้น เป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอก ยอดเสารูปบัวตูม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2325 ณ ชัยภูมิใจกลางพระนครใหม่ที่พระราชทานนามว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” หรือเรียกต่อกันมาว่า “กรุงเทพมหานคร” สถิตสถาพรเป็นมิ่งขวัญประชาชนชาวไทย จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่แทนต้นเดิมที่ชำรุดไปตามกาลเวลา เป็นเสาไม้สักเป็นแกนอยู่ภายในประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ และผูกดวงชาตาพระนครขึ้นใหม่ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารประสบความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรยิ่งขึ้น
ในปีพุทธศักราช 2525 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนิน ณ ศาลหลักเมือง ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหานครตามโบราณราชประเพณี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมืองให้มีความงดงามบริบูรณ์สมกับเป็นที่สถิตแห่งองค์พระหลักเมือง และให้เชิญเสาหลักเมืองต้นเดิมไปประดิษฐานไว้คู่กับเสาหลักเมืองต้นปัจจุบัน เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จสมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีสมโภชพระหลักเมือง ณ วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2529
ในการนี้ คณะกรรมการดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมือง ได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์การดำเนินงานปรับปรุงศาลหลักเมือง
รวมทั้งได้สร้างศาลเทพารักษ์เพื่อเป็นที่สถิตแห่งเทพารักษ์ทั้ง 5 ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง และอาคารหอพระพุทธรูปขึ้นอีกด้วย
ศาลหลักเมืองมีพื้นที่อยู่ในอาณาบริเวณของกระทรวงกลาโหม โดยเริ่มแรกในปี 2480 กระทรวงกลาโหมได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงเป็นผู้ดูแล เมื่อกรมเชื้อเพลิงถูกยุบภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทรวงกลาโหมจึงมอบให้ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นผู้ดูแลตั้งแต่ปี 2491 โดยองค์การฯ ได้กำหนดให้สำนักงานกิจการศาลหลักเมือง ซึ่งเป็นหน่วยงานกิจการพิเศษขององค์การฯ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบศาลหลักเมือง รวมทั้งอาคารและบริเวณอันเป็นสถานที่สำคัญของชาติ การบูรณปฏิสังขรณ์ ดำเนินกิจการเพื่อให้บริการแก่ประชาชนผู้มาสักการะ และเก็บรักษาผลประโยชน์จากการนั้นสนับสนุนกิจการขององค์การฯ ตลอดจนร่วมสาธารณะกุศลอื่น ๆ มีผู้อำนวยการสำนักงานกิจการศาลหลักเมือง เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ และผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นประธานกรรมการบริหารสำนักงานกิจการศาลหลักเมือง
ขั้นตอนที่ 1
อาคารหอพระพุทธรูป นำดอกบัวขึ้นไปสักการะพระพุทธรูป จากนั้นทำบุญใส่บาตรพระประจำวันเกิด ซึ่งเชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ และช่วยหนุนดวงเสริมความมั่นคงในชีวิต นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปเสี่ยงทาย ซึ่งเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และแม่นยำ วิธีการเสี่ยงทายนั้น ให้ตั้งจิตอธิษฐานให้เป็นสมาธิ กล่าวนะโม 3 จบ ระลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลหลักเมือง โดยยกพระเสี่ยงทาย ยกครั้งที่ 1 ให้อธิษฐานหากเรื่องประสบความสำเร็จขอให้ยกองค์พระขึ้น ยกครั้งที่ 2 ให้อธิษฐานเรื่องเดิม และขอให้ยกองค์พระนี้ไม่ขึ้น
ขั้นตอนที่ 2
ศาลาจำลอง ถวายธูปและเทียน กล่าวคำอธิษฐาน เสร็จแล้วนำผ้าแพรสีทั้ง 3 ผืน ผูกที่องค์หลักเมืองจำลองหลักใดหลักหนึ่ง และปิดทอง
ขั้นตอนที่ 3
อาคารศาลหลักเมือง นำพวงมาลัยถวายองค์พระหลักเมือง โดยเสาหลักเมือง รัชกาลที่ 1 มียอดเสาเป็นรูปบัวตูม ส่วนเสาหลักเมือง รัชกาลที่ 4 ยอดเสาเป็นยอดเม็ดทรงมัณฑ์
ขั้นตอนที่ 4
อาคารศาลเทพารักษ์ทั้ง 5 นำพวงมาลัยถวายเทพารักษ์ทั้ง 5 ประกอบด้วย พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง ซึ่งเทพารักษ์ทั้ง 5 ดูแลปกป้องบ้านเมืองในด้านการเมือง การปกครอง อริราชศัตรู และเหตุเภทภัยที่เกิดกับบ้านเมืองให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุขสงบร่มเย็น
ขั้นตอนที่ 5
จุดเติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิด ธรรมเนียมปฏิบัติของศาลหลักเมือง คือ ให้เติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิดครึ่งขวด เพื่อความสว่างไสวในชีวิต มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ส่วนที่เหลือให้นำไปเติมที่ตะเกียงสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้สิ่งที่ไม่ดีทุกข์โศกโรคภัยออกไปจากตัวเรา การเติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิด เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลหลักเมืองแห่งนี้
องค์ท้าวสมุทรเทวา องค์ท้าวสมุทรเทวี เริ่มก่อสร้างในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 โดยลูกหลานผู้รั...
คาถาบูชาพญานาค เจ้าย่านาคี นางพญานาคิณีศรีปทุมมา เจ้าปู่นาคา สวดพระคาถาขอทรัพย์ เปิดทางคว...
คาถาบูชาพญานาค เจ้าปู่นาคา พญานาคาธิบดีศรีสุทโธ เจ้าย่านาคี นางพญานาคิณีศรีปทุมมา สวดพระค...
คาถาบูชาพญานาคทุกพระองค์ เจ้าปู่นาคา พญานาคาธิบดีศรีสุทโธ เจ้าย่านาคี นางพญานาคิณีศรีปทุม...
คาบูชาเจ้าย่านาคี คาถาบูชาพญานาค เจ้าย่านาคี รัตนาวดีศรีสตะนาคราช สวดพระคาถาขอทรัพย์ เปิด...