ศาลเจ้าพ่อฯตั้งอยู่ใกล้กับศาลาฟังธรรม ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ไม่มีหลักฐานว่าศาลฯแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อใด จากคำบอกเล่าและสันนิษฐานกันว่า ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชลบุรีนี้อาจจะสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ใกล้เคียงกับวัดใหญ่อินทารามกับศาลาฟังธรรม ทั้ง 3 สถานที่นี้ ได้ถูกขึ้นบัญชีเป็นศิลปกรรมโบราณสถานของจังหวัดชลบุรี
ในสมัยก่อน ต.บางปลาสร้อย เป็นตำบลที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่นกว่าชุมชนในตำบลอื่นๆของจังหวัดชลบุรี มีตลาดกลางค้าใหญ่ เรียกกันว่า ท่าเกวียน ซึ่งอยู่ระหว่าง วัดใหญ่ฯ วัดต้นสน และศาลาฟังธรรม
ชาวป่า ชาวไร่ ชาวสวน จะนำผลิตผลของตนใส่เกวียนลงมาขายที่ตลาดนี้ แล้วก็ซื้อสิ่งของที่ต้องการกลับไป ที่นี่จึงเป็นที่นัดพบของผู้ที่มีเกวียน มีควาย จึงเป็นจุดที่ก่อให้เกิด ประเพณีวิ่งควาย ครั้งแรกของจังหวัดชลบุรี และผลิตผลที่นำมาขายนี้บรรดาพ่อค้าก็จะซื้อนำใส่เรือ (เรือใบ เรือแจว) ไปขายยังจังหวัดอื่นๆต่อไป
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชลบุรี ตั้งอยู่เชิงสะพานยาว หันหน้าศาลลงทะเล ข้างศาลจะมีต้นโพธิ์ใหญ่ 1 ต้น หลังศาลจะมีบ่อน้ำ 1 บ่อ ชาวบ้านเรียกกันว่า บ่อศาลเจ้า หน้าศาลจะมีสะพาน พุ่งตรงไปทะเล สะพานนี้มีชื่อเรียกกันว่า สะพานยาว สะพานนี้ยาวกว่าสะพานอื่นๆในสมัยนั้น จึงเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าติดต่อไปมากับต่างจังหวัดอีกด้วย ต่อมาสะพานได้ถูกรื้อถอนไป กลายเป็นซอยมีชื่อใหม่ว่า ซอยฑีฆามารค ซึ่งแปลว่า หางยาว ความหมายเหมือนเดิม
เดิมศาลฯจะมีงานประจำปี ประเพณีการกองข้าว เข้าทรงในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 เป็นเวลาติดต่อกัน 3 วัน ตอนเย็นมีการเข้าทรงทำพิธีกองข้าวที่ข้างคลองบางปลาสร้อย ประเพณีการกองข้าว เริ่มจากศาลฯนี้เป็นแห่งแรกของจังหวัดชลบุรี
Credit: ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชลบุรี