ศาลหลักเมือง

กรุงเทพมหานคร

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ``Bangkok City Pillar Shrine``

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นศาลที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 เป็นวันครบรอบ 241 ปี ขององค์พระหลักเมือง

ศาลหลักเมือง สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2325 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธียกเสาหลักเมืองขึ้น เป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์มีไม้แก่นจันทน์ประกับนอก ยอดเสารูปบัวตูม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2325 ณ ชัยภูมิใจกลางพระนครใหม่ที่พระราชทานนามว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” หรือเรียกต่อกันมาว่า “กรุงเทพมหานคร” สถิตสถาพรเป็นมิ่งขวัญประชาชนชาวไทย จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเสาหลักเมืองต้นใหม่แทนต้นเดิมที่ชำรุดไปตามกาลเวลา เป็นเสาไม้สักเป็นแกนอยู่ภายในประกับด้วยไม้ชัยพฤกษ์ยอดเม็ดทรงมัณฑ์ และผูกดวงชาตาพระนครขึ้นใหม่ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารประสบความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาถาวรยิ่งขึ้น

ในปีพุทธศักราช 2525 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนิน ณ ศาลหลักเมือง ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหานครตามโบราณราชประเพณี และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมืองให้มีความงดงามบริบูรณ์สมกับเป็นที่สถิตแห่งองค์พระหลักเมือง และให้เชิญเสาหลักเมืองต้นเดิมไปประดิษฐานไว้คู่กับเสาหลักเมืองต้นปัจจุบัน เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จสมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีสมโภชพระหลักเมือง ณ วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม 2529

ในการนี้ คณะกรรมการดำเนินการปรับปรุงศาลหลักเมือง ได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์การดำเนินงานปรับปรุงศาลหลักเมือง

รวมทั้งได้สร้างศาลเทพารักษ์เพื่อเป็นที่สถิตแห่งเทพารักษ์ทั้ง 5 ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง และอาคารหอพระพุทธรูปขึ้นอีกด้วย

ศาลหลักเมืองมีพื้นที่อยู่ในอาณาบริเวณของกระทรวงกลาโหม โดยเริ่มแรกในปี 2480 กระทรวงกลาโหมได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงเป็นผู้ดูแล เมื่อกรมเชื้อเพลิงถูกยุบภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทรวงกลาโหมจึงมอบให้ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นผู้ดูแลตั้งแต่ปี 2491 โดยองค์การฯ ได้กำหนดให้สำนักงานกิจการศาลหลักเมือง ซึ่งเป็นหน่วยงานกิจการพิเศษขององค์การฯ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบศาลหลักเมือง รวมทั้งอาคารและบริเวณอันเป็นสถานที่สำคัญของชาติ การบูรณปฏิสังขรณ์ ดำเนินกิจการเพื่อให้บริการแก่ประชาชนผู้มาสักการะ และเก็บรักษาผลประโยชน์จากการนั้นสนับสนุนกิจการขององค์การฯ ตลอดจนร่วมสาธารณะกุศลอื่น ๆ มีผู้อำนวยการสำนักงานกิจการศาลหลักเมือง เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ และผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นประธานกรรมการบริหารสำนักงานกิจการศาลหลักเมือง

5 ขั้นตอนการสักการะ ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร

ขั้นตอนที่ 1

อาคารหอพระพุทธรูป นำดอกบัวขึ้นไปสักการะพระพุทธรูป จากนั้นทำบุญใส่บาตรพระประจำวันเกิด ซึ่งเชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ และช่วยหนุนดวงเสริมความมั่นคงในชีวิต นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปเสี่ยงทาย ซึ่งเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และแม่นยำ วิธีการเสี่ยงทายนั้น ให้ตั้งจิตอธิษฐานให้เป็นสมาธิ กล่าวนะโม 3 จบ ระลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลหลักเมือง โดยยกพระเสี่ยงทาย ยกครั้งที่ 1 ให้อธิษฐานหากเรื่องประสบความสำเร็จขอให้ยกองค์พระขึ้น ยกครั้งที่ 2 ให้อธิษฐานเรื่องเดิม และขอให้ยกองค์พระนี้ไม่ขึ้น

 

ขั้นตอนที่ 2

ศาลาจำลอง ถวายธูปและเทียน กล่าวคำอธิษฐาน เสร็จแล้วนำผ้าแพรสีทั้ง 3 ผืน ผูกที่องค์หลักเมืองจำลองหลักใดหลักหนึ่ง และปิดทอง

 

ขั้นตอนที่ 3

อาคารศาลหลักเมือง นำพวงมาลัยถวายองค์พระหลักเมือง โดยเสาหลักเมือง รัชกาลที่ 1 มียอดเสาเป็นรูปบัวตูม ส่วนเสาหลักเมือง รัชกาลที่ 4 ยอดเสาเป็นยอดเม็ดทรงมัณฑ์

 

ขั้นตอนที่ 4

อาคารศาลเทพารักษ์ทั้ง 5 นำพวงมาลัยถวายเทพารักษ์ทั้ง 5 ประกอบด้วย พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าเจตคุปต์ และเจ้าหอกลอง ซึ่งเทพารักษ์ทั้ง 5 ดูแลปกป้องบ้านเมืองในด้านการเมือง การปกครอง อริราชศัตรู และเหตุเภทภัยที่เกิดกับบ้านเมืองให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุขสงบร่มเย็น

 

ขั้นตอนที่ 5

จุดเติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิด ธรรมเนียมปฏิบัติของศาลหลักเมือง คือ ให้เติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิดครึ่งขวด เพื่อความสว่างไสวในชีวิต มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ส่วนที่เหลือให้นำไปเติมที่ตะเกียงสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้สิ่งที่ไม่ดีทุกข์โศกโรคภัยออกไปจากตัวเรา การเติมน้ำมันตะเกียงพระประจำวันเกิด เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลหลักเมืองแห่งนี้

ที่ตั้ง : ถ.หลักเมือง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร จ.กรุงเทพมหานคร 10200
Click นำทางบน Google Maps
Credit: สำนักงานกิจการศาลหลักเมือง

Horoscope Thailand

Your source of everything on Horoscope

แหล่งรวมข้อมูลสำหรับสายมู ทำนายฝันพร้อมเลขเสี่ยงโชคจากตำราเก่า พาไปมูทั่วไทย แนะนำศาลหลักเมือง วัดสายมู และสถานที่ปฏิบัติธรรม แหล่งรวมบทสวดมนต์ แจกวิธีการจัดปรับฮวงจุ้ย เสริมดวงด้านต่างๆ

เมษายน 2024
พฤอา
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 

รวมวัดสายมู

  • วัดราชโอรสเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 แห่งบรมราช...

  • สักการะ องค์พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช ก่อนถึงองค์พญานาค ต้องเดินผ่านระฆังที่ต้องใช้...

  • พญานาคสีขาว สิ่งศักดิ์สิทธิ์เคารพบูชาของชาวสะหวันนะเขต สปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้าน ข้ามฝั่งม...

  • ศาลเจ้าแม่ทับทิม ชาวจีนที่ทำการค้าในเมืองนนทบุรีหรือจังหวัดนนทบุรีมากราบบูชาขอพรกันมากแล้...